- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศท.2 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพืชฤดูแล้งภาคเหนือตอนล่าง แนะพืชทางเลือกแก่เกษตรกร
ข่าวที่ 172/2559 วันที่ 21 ธันวาคม 2559
สศท.2 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพืชฤดูแล้งภาคเหนือตอนล่าง แนะพืชทางเลือกแก่เกษตรกร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 ศึกษาทางเลือกให้เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด แจงผลตอบแทนสุทธิของเกษตรกร ในการปลูกข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 ถั่วเหลือง รุ่น 2 และถั่วเขียว รุ่น 2 แนะ เกษตรกร ควรเน้นการปรังปรุงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดมากกว่าปริมาณ
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าข้าว และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) จึงได้ทำการศึกษาวิจัยสินค้าที่จะนำมาปลูกทดแทนข้าวนาปรัง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด (พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์) เพื่อมุ่งเน้นพิจารณามิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนแผนการผลิตพืชใน 1 ปีการเพาะปลูก จำนวน 4 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 ถั่วเหลือง รุ่น 2 และถั่วเขียว รุ่น 2
จากผลการวิจัย พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่พึงพอใจต่อสินค้าที่เคยผลิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง แต่กลับเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่อง การรวมกลุ่ม การถ่ายทอดความรู้ การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยผลการวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทนพืช 4 ชนิดพบว่า
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 มีผลตอบแทนสุทธิ 2,145 บาทต่อไร่ ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันอับ 1 รองลงมาเป็นข้าวนาปรัง มีผลตอบแทนสุทธิ 1,549 บาทต่อไร่ ถัดมาเป็นถั่วเขียวผิวมันรุ่น 2 มีผลตอบแทนสุทธิ 1,240 บาทต่อไร่ และ ถั่วเหลือง รุ่น 2 มีผลตอบแทนสุทธิ 345 บาทต่อไร่
ดังนั้น กรณีที่เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนและแหล่งน้ำเพียงพอควรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงที่สุด และกรณีเกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนและแหล่งน้ำไม่เพียงพอควรปลูกถั่วเขียวผิวมัน เนื่องจากเป็นพืชใช้น้ำน้อยและเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย ทั้งนี้ แนวทางการผลิตสินค้าเกษตรกรควรเน้นการปรังปรุงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการมากกว่าการผลิตที่เน้นปริมาณ ซึ่งภาครัฐมีการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การสนับสนุนปัจจัยการผลิต แหล่งน้ำ องค์ความรู้ การหาตลาดรองรับผลผลิต และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการบริหารจัดการสินค้าเกษตรต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ได้ศึกษาทัศนคติของเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการในระดับพื้นที่เกี่ยวกับความต้องการของตลาด (Demand) ปริมาณผลผลิตในแหล่งผลิตในบริเวณใกล้เคียง และในประเทศ (Supply) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการวางแผนและกำหนดนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำผลการศึกษาไปใช้ประกอบการพิจารณาเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการสินค้าพืชที่ปลูกทดแทนข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับพื้นที่สำหรับช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป หากท่านที่สนใจและต้องการคำแนะนำ สามารถสอบถามที่ได้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก โทร. 055 322 658 อีเมล zone2@oae.go.th
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก